หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
วิสัยทัศน์
การเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านสูตินรีเวชกรรมระดับชั้นนำของกองทัพบกในภูมิภาคเอเชีย
พันธกิจ
- ฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาซึ่งเป็นสาขาวิชาทางการแพทย์เฉพาะทางที่ต้องอาศัยความรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ร่วมกับความสามารถในการทำหัตถการที่ประณีตและซับซ้อน ในการดูแลสุขภาพของสตรีทั้งในวัยก่อนเจริญพันธุ์ วัยเจริญพันธุ์ และวัยหมดระดู ทั้งด้านทฤษฎีและปฏบัติตามมาตรฐานที่กำหนดโดยแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้การดูแลรักษาและรองรับการบริการสาธารณสุขเฉพาะด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาของบุคลากรในกองทัพบก กระทรวงกลาโหม และครอบครัว รวมทั้งของประเทศอย่างเหมาะสมตามหลักมาตรฐานสากล
- ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้และสามารถค้นคว้างานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และเพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นนักวิชา การ/ผู้ชำนาญการในสาขาวิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาอย่างมืออาชีพในอนาคตตามความรู้และทักษะขั้นต่ำตามสมรรถนะหลัก 6 ด้าน
- ส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถบริหารจัดการ ให้บริการผู้รับบริการแบบองค์รวม สามารถทำงานเป็นทีมแบบสหวิชาชีพ ตลอดจนมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในการบริการทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา สอดคล้องกับการบริบาลสุขภาพอนามัยเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม บริบทของกองทัพบกและกระทรวงกลาโห
- ส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ การบริหารจัดการสาธารณสุข และกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและคุ้มทุน
ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม
แพทย์ประจำบ้านที่จบการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ต้องมีคุณสมบัติ ความรู้และทักษะขั้นต่ำตามผลสัมฤทธิ์/ระดับความสามารถระหว่างการฝึกอบรมที่พึงประสงค์ (Intended learning outcome/milestones) ที่ครอบคลุมประเด็น 6 ด้าน ดังนี้
- การดูแลสุขภาพสตรี (Women’s health)
- มีทักษะในการดูแลด้านสูติศาสตร์ตั้งแต่ระยะก่อนตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอดและหลังคลอด
- มีทักษะในการดูแลด้านนรีเวชวิทยาตั้งแต่ระยะก่อนวัยเจริญพันธุ์ วัยเจริญพันธุ์และวัยหมดระดู
- ความรู้และทักษะหัตถการทางเวชกรรม (Medical knowledge and procedural skills)
- เข้าใจวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสตรี
- มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ และเชี่ยวชาญในสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
- ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
- นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
- ถ่ายทอดความรู้และทักษะ ให้แพทย์นักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
- สื่อสารให้ข้อมูลแก่ญาติ และผู้ป่วย ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยเคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
- เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคคลากรอื่น โดยเฉพาะทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
- การเรียนรู้และพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (Practice-based learning and improvement)
- มีการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based) ความคิดสร้างสรรค์ตามหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างความรู้ใหม่และพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
- ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
- วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์
- เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ
- ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (Professionalism)
- มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพ และชุมชน
- มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (Non-technical skills)
- มีความสนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous professional development)
- มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
- คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม
- มีความสามารถในการทำการศึกษาวิจัยที่ถูกต้อง
- การทำเวชปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (System-based practice)
- มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
- มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยสามารถอธิบายกระบวนการคุณภาพและความปลอดภัยทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
- ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost consciousness medicine) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ และสามารถจัดการสถานการณ์วิกฤตทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาได้